กลุ่มอาการทางจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด  ไม่สบายใจ     ผู้ป่วยอยากรักษาให้อาการหายไป  ผู้ป่วยไม่มีอาการหูแว่ว  หลงผิด  หรือประสาทหลอน  อาการจะเป็นเรื้อรัง  ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

อาการ                            
โรคประสาทมีหลายชนิดด้วยกัน  ในที่นี้จะกล่าวถึงอาการของโรคประสาทที่พบบ่อย  คือ

โรคกังวล  (Generalized Anxiety Disorder) :  ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมากผิดปกติ  และมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย  ได้แก่  กระวนกระวายใจ  เหนื่อยง่าย  หงุดหงิดง่าย  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  นอนไม่หลับ  อาการดังกล่าวเป็นติดต่อกันอย่างน้อย  6  เดือน  ผู้ป่วยมักกังวลกับเรื่องในชีวิตประจำวัน  เช่น  การงาน  ครอบครัว  การเรียน  เป็นต้น

โรคแพนิค  (Panic Disorder)  ผู้ป่วยมีความกลัวอย่างรุนแรง  รู้สึกว่ากำลังจะตาย  ควบคุมตัวเองไม่ได้  คิดว่าเป็นโรคหัวใจ  และมีอาการทางกายร่วมด้วย  คือ  ใจสั่น  เหงื่อออกมาก  หายใจไม่ออก  เจ็บหรือแน่นหน้าอก  คลื่นไส้  เวียนหัว  จะเป็นลม  อาการเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำบ่อย ๆ  บางครั้งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์  เช่น รถติดมาก  อยู่ในสถานที่คนมากแออัด  แต่บางครั้งก็มีอาการขึ้นมาเอง

โรคกลัว  (Phobia Disorder)  ผู้ป่วยมีความกลัวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ  และไม่สมเหตุสมผล  เกิดขึ้นซ้ำ ๆ  โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถระงับความกลัวนั้นได้  ทำให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไม่สบายนั้น  เมื่อพบสิ่งที่ทำให้กลัว  ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น  หายใจลำบาก  วิงเวียนศีรษะ  อ่อนเพลีย  คล้ายจะเป็นลม  ความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล  เช่น กลัวที่สูง  กลัวที่คับแคบ  กลัวการพูดในที่ชุมชน  กลัวสถานที่คนหนาแน่น  แออัด  กลัวการออกนอกบ้านคนเดียว

โรคย้ำคิดย้ำทำ  (Obsessive  Compulsive  Disorder)       ผู้ป่วยมีอาการย้ำคิดหรือย้ำทำซ้ำ ๆ  โดยไม่มีเหตุผล  ซึ่งผู้ป่วยเองก็รู้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ  แต่ไม่สามารถขัดขืนได้  พร้อมกันนั้นจะรู้สึกไม่สบายใจ  เครียด  วิตกกังวล  และบางครั้งอาจมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย

การดำเนินโรค   

ผู้ป่วยโรคประสาทจะมีอาการเรื้อรัง  เป็น ๆ หาย ๆ  นานมากกว่า  6  เดือน  หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  อาการจะทุเลาลง  แต่ยังต้องรักษาต่อเนื่องเป็นแรมปี

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

1.  ยาทางจิตเวช  ได้แก่  ยาคลายกังวล  ยาต้านอารมณ์เศร้า
2.  พฤติกรรมบำบัด
3.  จิตบำบัด